วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ข้อมูลเบื้องต้นจังหวัดสุราษฎร์ธานี


คนส่วนใหญ่จะเรียกจังหวัดสุราษฎร์ธานีกันสั้น ๆ ว่า สุราษฎร์ ซึ่งจังหวัดสุราษฎ์ธานีอยู่ในภาคใต้ตอนบน ทางฝั่งตะวันออกของภาคใต้ มีพื้นที่จังหวัดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศ สภาพภูมิประเทศมีหลายอย่าง ทั้งที่ราบสูง ที่ราบชายฝั่ง และมีเกาะน้อยใหญ่อีกหลายเกาะ แต่เกาะใหญ่ ๆ ที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ เกาะพะงัน เกาะสมุย หมู่เกาะอ่างทอง

ชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ปศุสัตว์ ประมง เหมืองแร่

ตราประจำจังหวัด คือ พระบรมธาตุไชยา ซึ่งมีศิลปะแบบศรีวิชัย ตั้งอยู่ที่วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร และเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

ต้นไม้ประจำจังหวัด คือ ต้นเคี่ยม
ดอกไม้ประจำจังหวัด คือ ดอกบัวผุด ตั้งอยู่อำเภอพนม
คำขวัญประจำจังหวัด คือ เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ
คำขวัญประจำจังหวัดในอดีต แต่งโดยพระเทพรัตนกวี (ก.ธรรมวร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี: "สะตอวัดประดู่ พลูคลองยัน ทุเรียนหวานมันคลองพระแสง ย่านดินแดงของป่า เคียนซาบ่อถ่านหิน พุนพินมีท่าข้ามแม่น้ำตาปี ไม้แก้วดีเขาประสงค์ กระแดะดงลางสาด สิ่งประหลาดอำเภอพนม เงาะอุดมบ้านส้อง จากและคลองในบาง ท่าฉางต้นตาล บ้านนาสารแร่ ท่าทองอุแทวัดเก่า อ่าวบ้านดอนปลา ไชยาข้าว มะพร้าวเกาะสมุย"

ส่วนประเพณีดัง ๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี คือ ประเพณีชักพระทอดผ้าป่า และแข่งขันเรือยาว อีกชื่อหนึ่งก็คืองานเดือนสิบเอ็ด ซึ่งก็เป็นเวลาเดียวกับเทศกาลออกพรรษาพอดี กิจกรรมที่สำคัญ คือ การประกวดเรือพระ ซึ่งจะมีทั้งรถพนมพระ และเรือพนมพระ ซึ่งรถและเรือพนมพระ อาจจะตกแต่งประดับประดาด้วยการแกะสลัก หรือฉลุไม้ ตกแต่งจำลอง เป็นเสมือนฉากที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึง ในงานจะใช้คนลาก ซึ่งเชื่อกันว่าผู้ที่ได้ร่วมลากจูงรถหรือเรือพนมพระจะได้อานิสสงค์หลายประการ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นงานใหญ่งานหนึ่งของภาคใต้

ส่วนการเดินทางมายังจังหวัดสุราษฎร์ธานีสามารถมาได้หลายเส้นทาง ทั้งทางเครื่องบิน รถไฟ รถโดยสาร บขส. เรือ และรถยนต์ส่วนบุคคล

วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประวัติสุราษฎร์ธานีแบบย่อ ๆ


ในอดีตจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้เป็นศูนย์กลางของเมืองศรีวิชัย ซึ่งได้มีการสร้างเส้นทางสายไหมเอาไว้ ในพื้นที่อ่าวบ้านดอนเจริญ และพัฒนาจนกลายมาเป็นอาณาจักรศรีวิชัย

และในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าให้รวมเมืองไชยา เมืองคีรีรัฐนิคม และเมืองกาญจนดิษฐ์ ให้เป็นเมืองเดียวกัน และได้เรียกว่า เมืองไชยา ภายใต้สังกัดมณฑลชุมพร


และเมื่อเมืองไชยาได้ขยายเมือง จึงได้มีการปรับเปลี่ยนการปกครอง และมีการสร้างเมืองขึ้นใหม่ที่อ่าวบ้านดอน ซึ่งเมืองใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมีชื่อว่า อำเภอไชยา และแทนชื่อเมืองไชยาว่า อำเภอพุมเรียง แต่ด้วยความเคยชิน ประชาชนส่วนใหญ่ยังเรียกเมืองไชยาที่เปลี่ยนชื่อใหม่แล้วว่า อำเภอไชยา เพื่อป้องกันการสับสน เมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระราชทานนามเมืองใหม่ที่อ่าวบ้านดอนว่า สุราษฎร์ธานี และเปลี่ยนชื่อเมืองไชยาว่า อำเภอไชยา และทรงพระราชทานนามให้แม่น้ำตาปี

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เกริ่นนำถึงสุราษฎร์ธานี


เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อน ๆ จะนึกถึงอะไรกันบ้างคะ ไข่เค็มไชยาใช่หรือเปล่า หรือสวนโมกขพลารามหรือเปล่า หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่มักจะมีชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวอย่างเกาะสมุยหรือเปล่า

จริง ๆ แล้วจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายหลายแห่ง เช่น พระธาตุศรีสุราษฎร์ พระบรมธาตุไชยา หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา

ซึ่งดิฉันจะขออาสานำพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้มากขึ้นกว่านี้ ทั้งด้านสถานที่ท่องเที่ยว และประเพณีต่าง ๆ และอาหารการกิน รับรองคุณผู้อ่านจะได้สัมผัสถึง "เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ" เลยหล่ะค่ะ